• ปรับขนาด
    ตัวอักษร

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

 
ข่าวประชาสัมพันธ์
ทางออกของความแตกแยกของสังคมและการเมืองไทย
1 ตุลาคม 2553

เสวนาสภาอาจารย์ ครั้งที่ 8/2553   

เรื่อง ทางออกของความแตกแยกของสังคมและการเมืองไทย

 

ปัจจุบันสังคมไทยกำลังเผชิญกับความแตกแยกทางความคิดในขั้นที่รุนแรง มีการแบ่งฝ่ายเป็นสีต่าง ๆแม้แต่ในที่ทำงานในสถาบัน หรือครอบครัวเดียวกันก็ตาม   ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การทำรัฐประหารในปี 2549  มาถึงการก่อม็อบยึดสนามบิน  ทำเนียบรัฐบาล ย่านชุมชนธุรกิจใจกลางเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นเงินหลายแสนล้านบาท มีจำนวนผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย  ยังมีความสับสนในแนวทางทางแก้ไข  สภาพของบ้านเมืองในปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าอยู่ในสภาวะสุญญากาศ น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ทางสภาอาจารย์ฯ จึงได้จัดเสวนาสภาอาจารย์ฯ ครั้งที่ 8/2553  เมื่อวันพุธที่ 7 กรกฎาคม 2553  เวลา 12.00-14.00 น.  ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานอธิการบดีวิทยาเขตหาดใหญ่ นี้ขึ้น  โดยมี ผศ.ปิยะ  กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ  มีผู้เข้าร่วมเสวนาดังนี้  รศ.ดร.วิชัย  กาญจนสุวรรณ  คณะวิทยาการจัดการ, รศ.ดร.ศิโรช  จิตต์สุรงค์  ประธานสภาอาจารย์ฯ, รศ.ดร.ศิริพันธุ์  หิรัญญะชาติธาดา  เลขานุการสภาอาจารย์ฯ, รศ.ดร.ปิ่น  จันจุฬา  สมาชิกสภาอาจารย์ฯ  พอสรุปประเด็นได้ดังนี้

1.  สาเหตุของความแตกแยกของสังคมและการเมืองไทย มาจากสาเหตุหลักอะไร?

พอสรุปประเด็นหลักได้ 4 ประเด็นดังนี้

1.1 ด้านสังคม

เกิดจากความเหลี่ยมล้ำในทางสังคมที่ขยายวงกว้างไปมาก  การติดยึดค่านิยมในระบบอุปถัมถ์  โดยเฉพาะสถาบันหลักของประเทศ มีค่อนข้างรุนแรง ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ย้ายข้ามสายงาน  ความรู้ ความสามารถ เล่นพรรค เล่นพวก อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพสังคม และสภาพปัญหาด้านต่าง ๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เกิดความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ของกลุ่มต่าง ๆ อย่างรุนแรงมากขึ้น

1.2 ด้านการเมือง

การไม่เห็นคุณค่า และการไม่ยึดมั่นกระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตย แต่แก้ปัญหาโดยการใช้อำนาจ ใช้การครอบงำ (dominate)   ทั้งทางความคิด การใช้เงิน การใช้ความรุนแรง การใส่ร้ายป้ายสี การกล่าวหาซึ่งกันและกัน สถาบันทางการเมือง เช่น พรรคการเมือง รัฐสภา องค์กรอิสระต่าง ๆ มีความอ่อนแอ

1.3 ด้านการบริหาร

เป็นที่รับรู้กันว่ามีกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะในทางธุรกิจเข้าไปมีอิทธิพลในพรรคการเมือง  ในรัฐบาล ในระบบราชการ   ผู้แทนประชาชนทั้ง ส.ส. และ  ส.ว.  ต่างก็ทำทุกวิถีทางที่จะไปเป็นรัฐบาล

1.4 ด้านบทบาททหารในทางการเมือง

                        เมื่อรัฐบาลต้องพึ่งพิง อาศัยอำนาจของทหารสนับสนุนเพื่อความอยู่รอดของรัฐบาล เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ทำให้สถาบันทหารได้ปรับตัวเข้ามาอิทธิพลเหนือฝ่ายการเมืองมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่นับตั้งแต่พฤษภาคม 2535 เป็นต้นมา บทบาท และความชอบธรรมของทหารในการเข้าไปมีบทบาททางเมืองได้ลดลงเป็นอย่างมาก  

2. ทางออกที่ดีของสังคมไทยควรจะเป็นอย่างไร?

2.1 มองในแง่บวก ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน ประเทศไทยเรายังมีภาพรวมที่ดีมาก  ประเทศไทยยังไม่เคยเจอปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จนเกิดสภาวะสงคราม และเกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากเหมือน ประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น เวียดนาม เขมร ลาว   อินโดนีเซีย  อย่างไรก็ตาม เราน่าจะอาศัยโอกาสนี้ อาจจะเรียกว่าเป็นโอกาสทอง หันมาดูตัวของเราเอง ทำอย่างไรที่เราจะก้าวข้ามภาวะวิกฤตนี้ไปได้ มีบทเรียนจากประเทศต่าง ๆ ให้เราได้ศึกษาเป็นอย่างดี

2.2 การปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยใช้ระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ยัง เป็นแนวทางปกครองดีที่สุดต่อประเทศไทยในขณะนี้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือแก้ไข คลี่คลายสถานการณ์ความขัดแยงในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ           การจับอาวุธเข้าต่อสู้กัน และ หรือให้ประชาชนเป็นผู้คลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง ผ่านการเลือกตั้งในระบบรัฐสภา

2.3 การแก้ปัญหาความขัดแย้ง ความแตกแยกที่เกิดขึ้น ต้องยึดหลักประชาธิปไตย โดยใช้การเผชิญหน้าของทุกฝ่าย เพื่อหาทางออกผ่านกลไกในระบบรัฐสภา  คณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ ที่กำลังทำงานน่าจะเป็นการซื้อเวลาของรัฐบาลมากกว่า

2.4 แนวทางในการแก้ปัญหาระยะยาว

อันดับแรก สร้างความเข้มแข้งให้ระบบพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองหลุดออกจากการครอบงำของกลุ่มทุน กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ในกรณีของประเทศเกาหลี ได้มีการออกกฎหมายห้ามพรรคการเมืองรับเงินจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อลดอิทธิพลของอำนาจเงิน พรรคการเมืองจะต้องแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้น

 อันดับที่สอง  สร้างการเรียนรู้และการเห็นคุณค่าของการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย โดยกำหนดให้มีการบังคับเรียนเรื่องประชาธิปไตย  ประวัติศาสตร์การเมือง การปกครองของไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่สำคัญทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475, เหตุการณ์วันที่  14 ตุลาคม, 6 ตุลาคม, พฤษภาทมิฬ ในปี 2535  ในทุกระดับการศึกษา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา เหมือนหลายประเทศที่ทำได้สำเร็จเป็นแบบอย่างที่ดีมาแล้ว  มหาวิทยาลัยควรเข้ามามีบทบาทตรงจุดนี้มากขึ้น.