
ข่าวประชาสัมพันธ์
เกณฑ์ภาระงานผลงานทางวิชาการของอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการ
Tweet
11 มิถุนายน 2553
เสวนาสภาอาจารย์ฯ ครั้งที่ 5/2553
เรื่อง เกณฑ์ภาระงานผลงานทางวิชาการของอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการ
ผศ. รศ. และ ศ. ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เมื่อวันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม 2553 สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เรียนเชิญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร (อ.พิชิต เรืองแสงวัฒนา) ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงค์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ ศ.ดร.ครองชัย หัตถา อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มาร่วมเสวนาสภาอาจารย์ฯ ครั้งที่ 5/2553 เรื่อง “เกณฑ์ภาระงานผลงานทางวิชาการของอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการ ผศ. รศ. และ ศ. ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” โดยมีผู้แทนสภาอาจารย์เข้าร่วมเสวนาฯ จำนวน 4 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.ศิโรช จิตต์สุรงค์ ประธานสภาอาจารย์ ม.อ. รศ.ดร.สงวน ลือเกียรติบัณฑิต ประธานคณะทำงานฝ่ายวิชาการ ของสภาอาจารย์วิทยาเขตหาดใหญ่ และ รศ.ดร.ปิ่น จันจุฬา สมาชิกสภาอาจารย์ฯ ซึ่งสรุปผลการเสวนาฯ ได้ดังนี้
ตามที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้จัดทำประกาศภาระงานทางวิชาการของอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการ ผศ. รศ. และ ศ. และอยู่ในระหว่างการนำเข้าสู่การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยฯ ทางสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ทำแบบสอบถามความเห็นของคณาจารย์ต่อประกาศดังกล่าว
และได้สรุปผลการตอบแบบสอบถามสามารถดูได้ที่ WebSite : http://www.psusenate.org ของสภาอาจารย์วิทยาเขตหาดใหญ่ ถึงแม้ว่าจะได้รับแบบสอบถามกลับคืนมาจำนวน 408 ฉบับ จากทั้งหมด 2,000 ฉบับ ก็ตาม ที่ประชุมเสวนาสภาอาจารย์ฯ ได้นำเอาข้อมูลที่ได้รับจากแบบสอบถามมาประกอบการเสวนาฯ ครั้งนี้ โดยพยายามมองหลาย ๆ มุมมองพอสรุป ได้ดังนี้
1. วัตถุประสงค์หลักของประกาศฉบับนี้มีเพื่ออะไร? เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างผลงานทางวิชาการของคณาจารย์ และเป็นเครื่องมือที่สำคัญของผู้บริหาร โดยทาง ม.อ. ได้เริ่มประกาศในปี 2550 และให้มีระยะแจ้งล่วงหน้า 2 ปี ประกาศฉบับนี้มีต่างจากเดิมเล็กน้อยตรงที่มีทางเลือกในการแต่งหนังสือ
2. จำเป็นหรือไม่ที่ ม.อ. ต้องทำตามประกาศของ ก.พ.อ. ปี 2551 ทุกประการ? เมื่อพิจารณาประกาศเกณฑ์ภาระงานของ ก.พ.อ. ปี 2551 ให้ละเอียดจะเห็นว่า ไม่ได้บังคับให้มหาวิทยาลัยฯ ต้องปฏิบัติตามโดยใช้คำว่า ให้มหาวิทยาลัยคำนึงถึงประกาศของ ก.พ.อ. ปี 2551 และพิจารณาให้สอดคล้องกับสาขาวิชา และค่าเฉลี่ยของผลงานทางวิชาการทุกประเภท ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงไม่ควรทำตามเกณฑ์ทุกข้อเนื่องจากเป็นเกณฑ์ที่ปฏิบัติได้ยาก สอดคล้องกับแบบสอบถาม และจากที่ประชุมประธานสภาอาจารย์จากทั่วประเทศ เราควรตั้งเกณฑ์ของเราเองเพราะเกณฑ์กลางมีที่มาต่างจากของเรา
3. เกณฑ์ภาระงานทางวิชาการ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการควรจะมีเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมกับมอ? การออกแบบสอบถามของสภาอาจารย์มีประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนอยู่ 2 ประการ คือ เป็นการรับฟังเสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงให้อาจารย์มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น และเป็นการกระตุ้นให้คณาจารย์ได้ตื่นตัวรับรู้ อย่างไรก็ตามผู้ที่ตัดสินว่าตำแหน่งวิชาการ ผศ. รศ. และ ศ. ควรจะมีภาระงานทางวิชาการเท่าไหร่ ไม่ควรให้อาจารย์ทั่วไปพิจารณา ควรเป็นคณะกรรมการที่เป็นกลางมีความเชี่ยวชาญ ที่ตั้งโดยมหาวิทยาลัยฯ ที่ประชุมเห็นว่าควรเปิดให้มีภาระงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น แต่บางอย่างก็เข้มงวดมากขึ้น ได้แก่ ลดจำนวน paper ลง, ส่งเสริมการตีพิมพ์ระดับ international, นำภาระการคุมวิทยานิพนธ์ปริญญาโท และปริญญาเอกมาคิด, หนังสือหรือตำราที่แต่งคิดเป็น chapter ได้, จำนวนชิ้นงานอื่นที่เทียบกับงานวิจัย เป็นต้น
4. สัดส่วนการมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการควรมีเท่าไหร่? ที่กำหนดไว้ที่ 25% มีผู้แสดงความเห็นที่แตกต่างกันมาก ยิ่งงานวิจัยที่มีลักษณะ multidisciplinary มีจำนวนผู้วิจัยมาก การกำหนดร้อยละก็อาจจะเป็นอุปสรรคได้ วารสารที่มี impact factor สูงก็อาจจะไม่จำเป็นที่จะเป็นเป้าเนื่องจากเป็นการค้ามาเกี่ยวข้อง จำนวนร้อยละที่เหมาะสมหามาได้อย่างไร ยังเป็นปัญหา หากพิจารณาเอางานมาเป็นหลักถาม expert opinionก็อาจจะเป็นทางแก้ปัญหาได้โดยไม่สนใจจำนวนร้อยละ แต่เน้นงานที่ออกมาดีก็พอ
5. ประเด็นการนำเอาผลงานทางวิชาการไปใช้ประกอบการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน ค่าจ้าง และการได้รับเงินรางวัลประจำปี ซึ่งต่างจากประกาศของมหาวิทยาลัยฯ ในปี 2550 อาจจะสร้างความวิตกกังวลให้คณาจารย์ ดังผลแบบสอบถามที่ออกมา หากสามารถปรับแก้ไขเป็นนำไปประกอบการพิจารณาเลื่อนขั้นกรณีพิเศษ และการได้รับเงินรางวัลประจำปี จะทำให้ลดความกังวลลง และน่าจะมุ่งไปที่การสร้างบรรยากาศของที่ทำงานให้สนับสนุนการสร้างผลงานทางวิชาการของผู้บริหารที่รับผิดชอบ ที่ควรลงไปดูว่ามีสาเหตุอะไรที่หน่วยงานไม่มีผลงานทางวิชาการ
6. มาตรฐานภาระงานทางวิชาการให้เว้นผู้ที่ดำรงตำแหน่งบริหารตั้งแต่ระดับหัวหน้าภาควิชาหรือเทียบเท่าขึ้นไปนั้น ผลแบบสอบถามของคณาจารย์มีความเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยที่เกือบจะเท่ากัน อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าผู้บริหารมีการกำหนด TOR ไว้ประเมินผลงานแล้วก็ตาม อาจจะมีการพิจารณาลดจำนวนภาระงานทางวิชาการลงบ้าง ตามความเห็นของคณะกรรมการกลาง
7. ประเด็นผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ยังสมควรได้รับเงินประจำตำแหน่งทางวิชาการด้วยหรือไม่ มองในแง่บวกเป็นการส่งเสริมให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารงาน หากตัดออกไปคงจะหาคนที่มีตำแหน่งทางวิชาการมาทำได้ยากเนื่องจากค่าตอบแทนตำแหน่งบริหาร เช่น หัวหน้าภาคได้น้อยกว่ามาก ต่อไปจะหาคนที่จะมาเป็นหัวหน้าภาคได้ยากขึ้น หรือเป็นอีกแนวทางหนึ่งผู้บริหารที่มีตำแหน่งทางวิชาการแล้วต้องทำผลงานวิชาการด้วยจึงสมควรจะได้รับเงินประจำตำแหน่งนั้น อาจจะทำให้การทุมเทปฏิบัติงานในตำแหน่งบริหารทำได้ไม่เต็มที่ แนวทางแก้ปัญหาน่าจะดูที่ผลตอบแทนในตำแหน่งบริหารนั้นๆสมเหตุสมผลหรือไม่ หากพิจารณาถึงปริมาณงานที่ทำของผู้บริหาร และ TOR การรวมเงินประจำตำแหน่งทางวิชาการไปด้วย นอกจากจะเป็นขวัญและกำลังใจ แล้วการคัดเลือกคนดีคนเก่งเข้ามาบริหารงานทำได้ง่ายขึ้นก็เป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนจากประชาคม ควรนำข้อมูลจากมหาวิทยาลัยอื่นมาประกอบการพิจารณาด้วย.